แรด




Rhinoceros sondaicus  Desmarest, 1822

ลักษณะ :  แรดจัดเป็นสัตว์กีบคี่ คือมีเล็บ 3 เล็บเท้าหน้าและเท้าหลัง ตัวโตเต็มวัยมีความสูงที่ไหล่ 1.6-1.8 เมตร น้ำหนักตัว 1,500-2,000 กิโลกรัม แรดมีหนังหนาและมีขนแข็งขึ้นห่างๆ สีพื้นเป็นเป็นสีเทาออกดำ ส่วนหลังมีรอยพับของหนัง 3 รอย  ตรงบริเวณหัวไล่ ด้านหลังของขาคู่หน้าและด้านหลังของขาคู่หลัง แรดตัวผู้มีนอเดียวยาวไม่เกิน 25 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียจะเห็นเป็นเพียงปุ่มนูนขึ้นมา

อุปนิสัย : ในอดีตเคยพบแรดออกหากินรวมกันเป็นฝูง แต่ปัจจุบันแรดหากินตัวเดียวโดดๆ หรืออยู่เป็นคู่ในฤดูผสมพันธุ์ อาหารของแรดได้แก่ ยอดไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ และผลไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นดิน แรดไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอนจึงสมารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนานประมาณ 16 เดือน

ที่อยู่อาศัย :  แรดอาศัยอยู่เฉพาะในป่าดิบชื้นที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์หรือตามป่าทึบริมฝั่งทะเล ส่วนใหญ่จะหากินอยู่ตามพื้นที่ราบ ไม่ค่อยขึ้นไปบนภูเขาสูง

เขตแพร่กระจาย :  แรดมีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ประเทศบังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ลงไปทางแหลมมลายู    สุมาตรา และชวา ปัจจุบันมีรายงานพบน้อยมากจนกล่าวได้ว่าเกือบจะหมดไปจากผืนแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียแล้ว  เชื่อว่าอาจยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้างบนเทือกเขาตะนาวศรี และในป่าลึกบริเวณรอยต่อจังหวัดระนอง พังงา และสุราษฎร์ธานี

สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ :  เช่นเดียวกับแรดที่พบบริเวณอื่นๆ แรดที่พบในประเทศไทยถูกล่าและทำลายล้างอย่างหนัก เพื่อต้องการนอและส่วนต่างๆ เช่น หนัง กระดูก เลือด ซึ่งมีคุณค่าสูงยิ่ง ใช้เป็นยาบำรุงและยาอื่นๆ นอกจากนี้บริเวณป่าที่ราบที่แรดชอบอาศัยก็หมดไป กลายเป็นบ้านเรือนและบริเวณเกษตรกรรมจนหมด






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น