พะยูน




Dugong  dugon  (Muller, 1776)

ลักษณะ :  พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีลำตัวเพรียวรูปกระสวยหางแยกเป็นสองแฉกวางตัวขนานกับพื้นในแนวราบ ไม่มีครีบหลัง ปากอยู่ตอนล่างของส่วนหน้า ริมฝีปากบนเป็นก้อนเนื้อหนา ลักษณะเป็นเหลี่ยมคล้ายจมูกหมู ตัวอายุน้อยสีลำตัวออกขาว ส่วนตัวเต็มวัยสีเทาอมน้ำตาล เมื่อโอเต็มวัยจะมีน้ำหนักตัวประมาณ 300 กิโลกรัม

อุปนิสัย :  พะยูนอยู่รวมกันเป็นครอบครัว หลายครอบครัวจะมาหากินรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ออกลูกครั้งละ 1 ตัวใช้เวลาตั้งท้องนาน  1 ปี และจะโตเต็มที่เมื่อมีอายุ  13-14 ปี

ที่อยู่อาศัย :  ชอบอาศัยหากินพืชจำพวกหญ้าทะเลตามพื้นท้องทะเลชายฝั่ง ทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน

เขตแพร่กระจาย :  พะยูนมีเขตแพร่กระจายตั้งแต่บริเวณชายฝั่งตะวันออกทวีปแอฟริกา ทะเลแดง ตลอด แนวชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดียไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และตอนเหนือของออสเตรเลีย ในประเทศไทย พบไม่บ่อยนักทั้งในบริเวณอ่าวไทย แถบจังหวัดระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชายฝั่งทะเลอันดามัน แถบจังหวัด ภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยเฉพาะบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เกาะลิบง จังหวัดตรัง พบมีชุกชุมที่สุด

สถานภาพ :  ปัจจุบันพบพะยูนน้อยมาก พะยูนที่ยังหลงเหลืออยู่จะเป็นกลุ่มเล็กหรืออยู่โดเดี่ยว บางครั้งอาจเข้ามาจากน่านน้ำของประเทศใกล้เคียง พะยูนจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน จัดโดยอนุสัญญา CITES ไว้ใน Appendix 1

สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธ์ :  เนื่องจากพะยูนถูกล่าเพื่อเอาเนื้อเป็นอาหาร และเอาน้ำมันเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ประกอบกับพะยูนแพร่พันธุ์ได้ช้ามาก นอกจากนี้มลพิษที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภาพแวดล้อมตามชายฝั่งได้ทำลายแหล่งหญ้าทะเล และสาหร่าย ที่เป็นอาหารของพะยูนไปเป็นจำนวนมาก จนน่าเป็นห่วงว่าพะยูนจะสูญสิ้นไปจากประเทศในอนาคตอันใกล้นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น