กระซู่





Dicerorhinus   sumatrensis (Fischer,1814)

ลักษณะ :  กระซู่เป็นสัตว์ในจำพวกเดียวกับแรด แต่มีขนาดลำตัวเล็กกว่า ตัวโตเต็มวัยมีความสูงที่ไหล่ 1-1.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม มีหนังหนาและมีขนขึ้นปกคลุมทั่วตัว โดยเฉพาะในตัวอายุน้อย ซึ่งขนนี้จะลดน้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น สีลำตัวโดยทั่วไปออกสีเทาคล้ายสีขี้เถ้าและสีน้ำตาลเข้ม ด้านหลังลำตัวจะปรากฏมีรอบพับของหนังเพียงพับเดียว ตรงบริเวณด้านหลังของขาคู่หน้า กระซู่ทั้งสองเพศจะมีนอ 2 นอ นอหน้ามีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร ส่วนนอหลังมักยาวไม่เกิน 10 เซนติเมตร หรือเป็นเพียงตุ่มมนูนขึ้นมาในตัวเมีย

อุปนิสัย :  กระซู่ปีนเขาได้เก่ง มีประสาทในการรับกลิ่นดีมาก ออกหากินในเวลากลางคืน อาหาร ได้แก่ พวก ใบ้ไม้ กิ่งไม้ และผลไม้ป่าบางชนิด ปกติกระซู่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ หรือตัวเมียเลี้ยงลูกอ่อน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว มีระยะตั้งท้อง 7-8 เดือน ในที่เลี้ยงกระซู่มีอายุยืนถึง 32 ปี

ที่อยู่อาศัย :  กระซู่อาศัยอยู่ตามป่าเขาสูงที่มีหนามรกทึก ลงมาอยู่ในป่าที่ราบต่ำ ในตอนปลายฤดูฝนซึ่งในระยะนั้นมีปลักและน้ำอยู่ทั่วไป

เขตแพร่กระจาย :  กระซู่มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่กระจายตั้งแต่แคว้นอัสสัมในประเทศอินเดีย บังกลาเทศ พม่า ไทย เวียดนาม มลายู สุมาตรา และบอร์เนียว ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบกระซู่ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง ได้แก่ ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี และคลองแสง จังหวัดสุราษฏร์ธานี และในบริเวณอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ได้แก่ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา และบริเวณป่ารอยต่อระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย

สถานภาพ :  ปัจจุบันกระซู่จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทย อนุสัญญา CITES จัดไว้ใน Appendix 1 และ U.S. Endangered Species Act จัดไว้ในพวกที่ใกล้จะสูญพันธุ์

สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ :  กระซู่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์หมดไปจากโลก เนื่องจากถูกล่าเพื่อเอานอและอวัยวะทุกส่วนของตัว ซึ่งเชื่อกันว่ามีฤทธิ์ในทางเป็นยา กระซู่จึงถูกลักลอบล่าอยู่เนืองๆ ประกอบกับกระซู่มีปริมาณในธรรมชาติน้อย และประชากรแต่ละกลุ่ม ซึ้งแม้แต่จะอยู่ในบริเวณเดียวกันก็อยู่ห่างจากกันมากจนไม่มีโอกาสจะจับคู่ขยายพันธุ์ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น